การจัดตั้งสภานักประเมินราคาแห่งอาเซียน
สภานักประเมินราคาแห่งอาเซียน (The Asean Valuer Association) “AVA” ก่อตั้งขึ้นด้วยการริเริ่มของรัฐบาลแห่งประเทศมาเลเซีย ประสานงานกับประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียน จัดประชุมนักประเมินราคาทรัพย์สินแห่งอาเซียน ครั้งที่ 1 ขึ้นที่ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อเดือนมิถุนายน 2524 โดยมีนักประเมินราคาทรัพย์สินทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนจากประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งขณะนั้นมี 5 ประเทศ คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์และไทย เข้าร่วมประชุม ผลการประชุมในครั้งนั้นที่ประชุม มีมติร่วมกันให้จัดตั้งสภานักประเมินราคาแห่งอาเซียนขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เน้นหนักเพื่อสร้างความสัมพันธ์ ความร่วมมือ ความเข้าใจอันดีระหว่างนักประเมินค่าทรัพย์สินในกลุ่มประชาชาติอาเซียน และเพื่อจัดเตรียมโครงสร้างองค์กรเพื่อความร่วมมือในภูมิภาคนี้ขึ้นเพื่อศึกษา วิจัย การประเมินราคาทรัพย์สินในระหว่างกลุ่มประชาชาติอาเซียนซึ่งมีความแตกต่างกันอยู่ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศและได้ประกาศใช้ธรรมนูญของสมาคม ซึ่งกำหนดวัตถุประสงค์ดังกล่าวไว้รวมทั้งกำหนดว่าต้องจัดให้มีการประชุมสมัยสามัญของสมัชชา ซึ่งเรียกว่าการประชุมสภานักประเมินราคาแห่งอาเซียนขึ้นตามวาระทุก 2 ปี โดยประเทศสมาชิกผลัดเปลี่ยนกันเป็นประธานจัดการประชุมเรื่อยมา จนถึงครั้งที่ 15 ได้จัดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปีพ.ศ. 2551 และประเทศสมาชิกได้มีมติให้ประเทศไทย(โดยสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภานักประเมินราคาแห่งอาเซียน ครั้งที่ 16 ขึ้นในปี พ.ศ. 2553
ในทางปฏิบัติก่อนมีการจัดประชุมสภานักประเมินราคาแห่งอาเซียนดังกล่าว กลุ่มประเทศสมาชิกจะมีการประชุมกันล่วงหน้า 1 ปี (Pre Congress Meeting) เพื่อกำหนดวันเวลา สถานที่ และหัวข้อของการประชุม ซึ่งในการประชุมเตรียมการจัดประชุมสภาฯ ครั้งที่ 16 ที่ประเทศเวียดนาม เมื่อเดือนเมษายน 2552 สมาคมได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าจะจัดการประชุมสภาฯ ครั้งที่ 16 ขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ประมาณเดือนกรกฎาคม 2553 โดยสมาคมได้เป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมสภานักประเมินราคาแห่งอาเซียน ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 22-24 กรกฎาคม 2553 ที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพมหานคร มีสมาชิก AVA เข้าร่วมประชุม 90 คน สมาชิกสมาคมเข้าร่วม 150 คน และผู้สังเกตการณ์ 30 คน รวม 270 คน ในการนี้แต่ละประเทศ มีการนำเสนอ COUNTRY REPORT ของสมาชิก AVA แต่ละประเทศ นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอาชีพ โดยมีประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ จัดการฝึกอบรมให้สมาชิก AVAแต่ละประเทศส่งผู้แทนเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับการประเมินเพื่อให้สินเชื่อ การรักษาผลประโยชน์องผู้ว่าจ้าง ผู้ให้สินเชื่อ และความรับผิดชอบของผู้ประเมิน ความมีอิสระของผู้ประเมินกับต้นสังกัดรวมทั้งรับผิดชอบต่อบุคคลที่สาม หรือบุคคลภายนอกด้วย
ในการประชุม AVA ครั้งที่ 17 ได้มีการจัดประชุมที่ประเทศบรูไน (17th AVA Congress ,Brunei Darussalam) ระหว่างวันที่ 2-5 สิงหาคม 2555 ซึ่งสมาคม ได้จัดส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมจำนวน 10 คน
ในปี 2556 ได้มีการจัดประชุม Pre–Congress Meeting ที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 25-26 มิถุนายน 2556 และสมาคมได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม จำนวน 9 คน
ในการประชุม AVA ครั้งที่ 18 ได้มีการจัดการประชุมที่ประเทศเวียดนาม (17th AVA Congress ,Vietnam) ระหว่างวันที่ 24-27 มีนาคม 2557 มีผู้แทนของสมาคมฯ เข้าร่วมประชุม จำนวน 7 คน ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการเลือกตั้ง AVA Secretary – Gen คนใหม่ มีวาระครั้งละ 2 ปี โดยที่ประชุมได้ลงคะแนนเสียงข้างมาก ให้ประเทศอินโดนิเซีย ในที่ประชุมได้มีการเสนอชื่อประเทศไทย ให้เป็นผู้นำด้านการจัดอบรมเพิ่มความรู้ให้แก่ผู้ประเมินของแต่ละประเทศ เนื่องจากประเทศไทยได้มีการจัดอบรมผู้ประเมินภายในอย่างต่อเนื่อง และตลอดทั้งปี
ในปี 2558 จัดขึ้นที่ประเทศมาเลเซีย ช่วงกลางเดือน มิถุนายน 2558
ในปี 2559 การประชุมครั้งที่ 19th AVA Congress จัดขึ้นที่ประเทศกัมพูชา
ในปี 2561 การประชุมครั้งที่ 20 จัดให้มีการประชุมที่ประเทศสิงคโปร์ ในช่วงเดือนกันยายน 2561
ในปี 2562 การประชุมครั้งที่ 22 จัดให้การประชุมในประเทศไทยโดยกำหนดสถานที่การประชุม ณ โรงแรม ดุสิตธานี พัทยา จ.ชลบุรี ระหว่างวันที่ 20-22 ตุลาคม 2562 มีผู้ลงทะเบียนที่เป็นสมาชิกAVAจำนวน 94 คน เป็นสมาชิกของสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน แห่งประเทศไทย จำนวน 196 คนและแขกผู้มีเกียรติ จากหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และเอกชน จำนวน 20 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 310 คนโดยมีนายสันติ พร้อมพัฒน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลัง ให้เกียรติเป็นประธาน ในพิธีเปิด
ในปี 2563 ไม่ได้มีการจัดประชุมเพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ในปี 2564 การประชุมครั้งที่ 23 ได้มีการจัดประชุม Online ผ่าน Zoom Application โดยประเทศกัมพูชา เป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2564
และในปี 2565 การประชุมครั้งที่ 24 จะจัดให้มีการประชุมที่ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 22–24 พฤศจิกายน 2565
ขณะนี้สภานักประเมินราคาแห่งอาเซียนมีสมาชิกทั้งหมด 8 คือ บรูไน กัมพูชา อินโดนิเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม คงขาดประเทศในกลุ่มอาเซียนเพียง 2 ประเทศ คือ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ยังไม่ได้เป็นสมาชิก